การประชุมวิชาการระดับชาติด้านบริการวิชาการ หัวข้อ “บริการวิชาการอุดมศึกษาไทย ห่วงใยสังคม”

Written by akku2004 on . Posted in Uncategorized

เครือข่ายบริการวิชาการอุดมศึกษาไทย (คบอ.) โดย สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  จัดประชุมวิชาการด้านการบริการวิชาการ (คบอ.) เป็นครั้งแรกภายใต้ คบอ. หวังร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้พัฒนาชุมชนต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชัย  ณีรัตนพันธ์  ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายรักษาความปลอดภัย ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติด้านบริการวิชาการ หัวข้อ “บริการวิชาการอุดมศึกษาไทย ห่วงใยสังคม” เมื่อ 19 พฤศจิกายน  2559  ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทลแอนด์ คอนเว็นชั่น เซ็นเตอร์  มีนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งนักศึกษา ส่งผลงานเข้าร่วมประชุมกว่า 130 ผลงาน มีผู้เข้าร่วม จำนวน 210 คน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักพงษ์  เพชรคำ  ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ เปิดเผยว่า “การจัดประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านการบริการวิชาการในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของเครือข่ายบริการวิชาการอุดมศึกษาไทย (คบอ.) ซึ่งประกอบไปด้วยสถาบันอุดมศึกษาที่มีหน่วยงานด้านการบริการวิชาการ ร่วมมือกัน จำนวน 30 กว่าสถาบัน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกโดยสำนักบริการวิชาการอาสาจัดการประชุมวิชาการ และได้รับการสนับสนุนจาก คบอ. และสมาชิกเป็นอย่างดี การจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ จะเป็นการเผยแพร่กิจกรรมด้านการบริการวิชาการ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่าง ๆ เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่มีหน่วยงานกิจกรรมเพื่อสังคมด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาสังคม ชุมชน ให้สามารถพึงตนเองได้อย่างยั่งยืนและเข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติเกิดความเข้มแข็งต่อไป”

จากนั้นผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการยังเปิดเผยต่อว่า ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษจาก คุณวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ในหัวข้อ แนวคิดการพัฒนาชุมชน ในมุมมองของภาคเอกชน ศาสตราจารย์ ดร.กนก  วงศ์ตระหง่าน บรรยาย หัวข้อ บริการวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อผลกระทบที่ยั่งยืนต่อชุมชน และท่านบุนสี วงบัวสี กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประจำจังหวัดขอนแก่น บรรยายหัวข้อ มุมมองของประเทศเพื่อนบ้านต่อการบริการวิชาการของอุดมศึกษาไทย ซึ่งจะเป็นมุมมองจากหลากหลายภาคส่วน  ภายในงานมีการนำเสนอผลการบริการวิชาการภาคบรรยาย จำนวน 27 เรื่อง และนำเสนอภาคโปสเตอร์อีก 80 เรื่อง  รวมทั้งการนำเสนอจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และวิทยาลัยกสิกรรมและป่าไม้จำปาสัก ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวด้วย”

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

ผนึกเครือข่ายบริการวิชาการฯ ภาคอีสาน เพื่อบริการชุมชน

Written by akku2004 on . Posted in Uncategorized

สำนักบริการวิชาการ ผนึกเครือข่ายบริการวิชาการอุดมศึกษาไทย (คบอ.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเครือช่ายบริการวิชาการอุดมศึกษาไทย (คบอ.) ระดับประเทศ กำหนดกิจกรรมและแผนงานเพื่อบริการชุมชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักพงษ์ เพชรคำ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ เป็นประธานคณะกรรมการเครือข่ายบริการวิชาการอุดมศึกษาไทย (คบอ.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดประชุมเครือข่ายฯ ประกอบด้วย สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2559 ณ ห้องประชุมมณีเทวา สำนักบริการวิชาการ ชั้น 5 อาคารพิมล กลกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เครือข่ายบริการวิชาการอุดมศึกษาไทย (คบอ.) ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมหน่วยงานอุดมศึกษาเป็นเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน เพื่อบริการวิชาการสู่สังคมและชุมชน มีจำนวน 34 สถาบัน ปัจจุบัน สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นประธานเครือข่าย มีที่ปรึกษา คือ รองศาสตราจารย์ ดร.อำนวย คำตื้อ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณอนุรักษ์ ปัญญานุวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจัดให้มีคณะทำงานเครือข่ายภูมิภาคในแต่ละภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง/ตะวันออก/ภาคตะวันตก ในส่วนของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานคณะทำงาน จึงได้จัดประชุมเครือข่ายภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานร่วมกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักพงษ์ เพชรคำ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ได้เชิญชวนเครือข่ายบริการวิชาการอุดมศึกษาไทย (คบอ.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านการบริการวิชาการ “บริการวิชาการอุดมศึกษาไทย ห่วงใยสังคม” ระหว่างวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเว็นชั่น เซ็นเตอร์ โดยสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินการจัดงาน ภายใต้เครือข่ายบริการวิชาการอุดมศึกษาไทย ภายในงานจะมีการบรรยายพิเศษ 3 หัวข้อ ประกอบด้วย 1) การบริการวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา ในมุมองของภาคเอกชน โดย นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) 2) บริการวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อผลกระทบที่ยั่งยืนต่อชุมชน โดย ศาสตราจารย์กนก วงศ์ตระหง่าน และ 3) มุมมองของประเทศเพื่อนบ้านต่อการบริการวิชาการอุดมศึกษาไทย โดย ท่านบุนสี วงบัวสี กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประจำจังหวัดขอนแก่น ภายในงานมีการนำเสนอผลงานการบริการวิชาการด้วยการบรรยายและโปสเตอร์ มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการบริการวิชาการ จึงขอเชิญชวนเครือข่าย สถาบันอุดมศึกษาทั่วไป หรือบริษัทเอกชนที่ทำหน้าที่เกี่ยวการบริการชุมชน สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2559 หรือลงทะเบียนเพื่อเข้าฟังการประชุมโดยไม่นำเสนอผลงานครั้งนี้ได้ ภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://uac.kku.ac.th โทรศัพท์ 043 348 983

ภาพ : ชาลี พรหมอินทร์
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
สำนักบริการวิชาการ

เครือข่ายบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาไทย ร่วมจัดพิธีการลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการบริการวิชาการ

Written by akku2004 on . Posted in Uncategorized

เครือข่ายบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาไทย ร่วมจัดพิธีการลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการบริการวิชาการ
ระหว่างเครือข่ายบริการวิชาการ 29 สถาบันอุดมศึกษาไทย
(Memorandum of Understanding in Academic Service For University Academic Service Network of Thailand)
ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อวันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2558 ณ ห้องอินทนิล (อาคารใหม่) สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 10.00 น.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ พราหมณพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา ประธานเครือข่ายบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาไทย เปิดเผยว่าการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ เป็นการสานต่อการดำเนินงานภารกิจในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและเชื่อมความสัมพันธ์ในการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่ให้บริการวิชาการแก่ชุมชน พัฒนาส่งเสริมให้การบริการวิชาการแก่ชุมชนและท้องถิ่น โดยอาศัยองค์ความรู้ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง รวมทั้งเพื่อให้เกิดการบูรณาการทรัพยากร การจัดการหน่วยงานเครือข่ายบริการวิชาการของ 29สถาบันอุดมศึกษาไทยในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับต่างๆ ให้ทันเหตุการณ์พร้อมสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน สร้างองค์ความรู้ใหม่ อันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติสืบไป
สำหรับสถาบันการศึกษาที่จะเข้าร่วมลงนามทั้ง 29 แห่ง ได้แก่
1.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2.มหาวิทยาลัยขอนแก่น
3.มหาวิทยาลัยบูรพา
4.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
5.มหาวิทยาลัยทักษิณ
6.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
7.มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
8.มหาวิทยาลัยแม่โจ้
9.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
10.มหาวิทยาลัยนเรศวร
11.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลคลสุวรรณภูมิ
12.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
13.มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
14.มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
15.มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
16.มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ
17.มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
18.มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
19.มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี
20.มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
21.มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
22.มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
23.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
24.มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่
25.มหาวิทยาลัยสยาม
26.มหาวิทยาลัยศิลปากร
27.มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
28.มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
และ 29.มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

ภาพ/ข่าว: กลุ่มภารกิจบริการวิชาการ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เครือข่ายบริการวิชาการสถาบันอุมศึกษาไทย เขียนแผนพัฒนาประเทศแบบพหุสาขา

Written by akku2004 on . Posted in Uncategorized

เครือข่ายบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาไทยร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ
“การเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อการพัฒนาประเทศ เชิงพหุสาขาตามความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาล ภายใต้เครือข่ายบริการวิชาการสถาบันอุดมศึกษาไทย”

เครือข่ายบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาไทย ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ จัดทำแผนพัฒนาประเทศแบบพหุสาขาวิชา ตามความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาล เมื่อวันที่ 14  พฤศจิกายน  2558 ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ พระราม 6  กรุงเทพฯ ซึ่งการเขียนข้อเสนอโครงการแบ่งออกเป็น 5 ประเด็น ได้แก่

1) การพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนด้านสังคมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
2) การพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม
3) การพัฒนาด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม
4) การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยี
5) การพัฒนาด้านอื่น ๆ

เครือข่ายบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาไทย ประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการบริการวิชาการ

Written by akku2004 on . Posted in Uncategorized

 

เครือข่ายบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาไทย

เครือข่ายบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาไทย ได้จัดการประชุมเครือข่ายบริการวิชาการเพื่อร่วมกำหนดทิศทาง รูปแบบการทำงานอย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้านบริการวิชาการภายใต้เครือข่ายบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาไทย

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 ณ ห้องต้นน้ำ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ พระราม 6 กรุงเทพมหานคร โดย ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ พราหมณพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา (รักษาการประธานเครือข่ายบริการวิชาการฯ) และ ผศ.ดร.รักพงษ์ เพชรคำ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (รักษาการฝ่ายเลขาเครือข่ายบริการวิชาการฯ) พร้อมกับผู้แทนเครือข่ายบริการวิชาการ 15 สถาบัน ร่วมประชุมเครือข่ายบริการวิชาการฯ เพื่อร่วมพิจารณากำหนดแนวทางและรูปแบบการบริหารเครือข่ายบริการวิชาการ ภายใต้ความร่วมมือของเครือข่ายบริการวิชาการสถาบันอุดมศึกษาไทย ให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน

ในการประชุมครั้งนี้มีสถาบันเครือข่ายบริการวิชาการ เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 15 สถาบัน โดยมีการประชุมหารือเบื้องต้นในเรื่องการของการร่างบันทึกลงนามความร่วมมือเครือข่ายบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป พร้อมทั้งกำหนดการประชุมเพื่อจัดทำโครงการบริการวิชาการในนามเครือข่ายบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาไทยต่อไป

รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม

ภาพ/ข่าว: สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

มทร.ล้านนา : ถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยสับปะรด สร้างมูลค่าสินค้าพร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร

Written by akku2004 on . Posted in Uncategorized

ทีมงานวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง  จัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัย หัวข้อ การพัฒนาผงหมักเนื้อปรุงรสจากก้านและแกนสับปะรด การพัฒนาซอสหมักบาบีคิวพร้อมใช้จากเนื้อและเปลือกสับปะรดแก่กลุ่มผู้ปลูกสับปะรด และผู้สนใจทั่วไป  ในวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2557 ณ อาคารปฏิบัติการแปรรูปอาหาร สาขาอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง โดยมี ดร.วรรณา อัมมวรรธน์  อาจารย์ประจำสาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ ผู้เข้าอบรมจำนวน  50  คน

การจัดอบรมดังกล่าวดำเนินงานภายใต้โครงการวิจัยการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนผู้ปลูกสับปะรด ปีงบประมาณ 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ จากสับปะรด  สร้างมูลค่า สร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกร  พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนผู้ปลูกสับปะรด ต่อไปในอนาคต

ข่าว/ภาพ : รัตนบดินทร์ นาคินทร์คีรีวงค์

มทร.ล้านนา : สาธิต ติดตามบริการวิชาการ (การทำเชื้อเห็ดและ หัวเชื้อเห็ด) เพิ่มแหล่งอาหารเห็ดให้แก่ชุมชนบ้านวอแก้วอย่างยั่งยืน

Written by akku2004 on . Posted in Uncategorized

อาจารย์ชัยธวัช จารุทรรศน์ รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่า เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง นำโดยอาจารย์ชัยธวัช จารุทรรศน์ รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์นวลศรี จารุทรรศน์ อาจารย์พรพิมล อริยวงษ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร อาจารย์สมเกียรติ ตันตา อาจารย์กุลวิชญ์ พานิชกุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร และนักศึกษา (หลักสูตรวิชาพืชศาสตร์ เทคโนโลยีเครื่องกล การบัญชี การจัดการ และระบบสารสนเทศ และชาวบ้านวแก้ว ร่วมโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนบ้านวอแก้ว หมู่ ๓ ตำบลวอแก้ว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง

โครงการฯ ดังกล่าว ได้รับเกียรติจากกำนันดำริห์ สุวรรณสุระ และบุคคลต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ทหารจากมณฑลทหารบกที่ ๓๒ กว่า ๑๐๐ คน ร่วมทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๒ พรรษา ๑๒ สิงหามหาราชินี (วันแม่แห่งชาติ)

การจัดกิจกรรมสาธิต ติดตามบริการวิชาการ (การทำเชื้อเห็ดและหัวเชื้อเห็ด) กิจกรรมการเพิ่มแหล่งอาหารเห็ดให้แก่ชุมชนบ้านวอแก้วอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนวอแก้ว ดังกล่าว เป็นกิจกรรมที่จัดทำขึ้น ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยการเพิ่มแหล่งอาหารเห็ดป่าจำพวกเห็ดที่อยู่ร่วมรากพืช (เห็ดไคลหรือเห็ดหล่ม เห็ดพาน เห็ดไข่ห่านเหลือง เห็ดระโงก เห็ดน้ำหมากหรือเห็ดหน้าม้อย เห็ดแดง และอื่นๆ) ให้แก่ป่าชุมชนบ้านวอแก้ว ให้ชาวบ้านชุมชนบ้านวอแก้ว และหมู่บ้านใกล้เคียง ตำบลห้างฉัตร ตำบลวอแก้ว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ได้ใช้เป็นแหล่งอาหารยังชีพต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าว เป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติได้เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๕ อีกด้วย อาจารย์ชัยธวัช จารุทรรศน์ รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง กล่าวปิดท้าย

(ขอบคุณข่าว /ภาพประกอบ : อาจารย์ชัยธวัช จารุทรรศน์ รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ล้านนา ลำปาง)

เครือข่ายบริการวิชาการสถาบันอุดมศึกษาไทย : โครงการก้าวย่างบริการวิชาการสถาบันศึกษาอาเซียน จากไทย สู่ สปป.ลาว

Written by akku2004 on . Posted in Uncategorized

เช้าวันนี้ (27 มี.ค. 56) รศ.นพ.ถวัลวงค์  รัตนศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “ก้าวย่างบริการวิชาการสถาบันอุดมศึกษาอาเซียน จากไทย สู่ สปป.ลาว”  ที่ห้องแกรนด์ พาวิลเลี่ยน รร.ราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล  ซึ่งจัดโดยเครือข่ายบริการวิชาการสถาบันอุดมศึกษาไทย จำนวน  6  สถาบัน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยทักษิณ มีผู้เข้าร่วม จำนวน  100  คน

การประชุมวิชาการครั้งนี้ มีผู้นำเสนอด้วยการบรรยายทางวิชาการและเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (Oral Presentation) จำนวน  5 โครงการ ประกอบด้วย มอ. จำนวน 1 โครงการ และ มข. 4  โครงการ   และนำเสนอด้วยโปสเตอร์ (Poster Presentation) จำนวน 41 โครงการ  ประกอบด้วย มข. 30  โครงการ  ม.นครพนม 4 โครงการ  ม.แม่โจ้  4 โครงการ และ ม.ราชมงคลอีสาน (นครราชสีมา)  3  โครงการ

รศ.ดร.อำนวย  คำตื้อ  ผอ.สำนักบริการวิชาการ มข. กล่าวรายงานการจัดโครงการว่า “เครือข่ายบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาไทย ร่วมกันจัดจัดประชุมวิชาการ “ก้าวย่างบริการวิชาการสถาบันการศึกษาอาเซียน:จากไทยสู่ สปป.ลาว”  โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้ 1) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความร่วมมือด้านการบริการวิชาการร่วมกันกับหน่วยงานที่มีพันธกิจหลักด้านการบริการวิชาการจากประเทศสู่ระดับอาเซียน 2) เพื่อเตรียมความพร้อมการให้บริการวิชาการแก่ประชาชน เข้าสู่ประชาคมอาเซียน  3) เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานด้านบริการวิชาการของบุคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ

ซึ่งการจัดสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้จัดให้มีกิจกรรม 3 รูปแบบ ได้แก่  1) การบรรยายทางวิชาการและการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางการบริการวิชาการจากเครือข่ายบริการวิชาการ ไปสู่ประชาคมอาเซียน โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากประเทศไทย และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 2) การเสนอผลงานบริการวิชาการในรูปแบบโปสเตอร์และการนำเสนอในที่ประชุม 3) การศึกษาดูงานพื้นที่เป้าหมายเพื่อการบริการวิชาการของเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาไทย  ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  จัดระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม  2556 ที่ รร.ราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล  จังหวัดขอนแก่น”

รศ.นพ.ถวัลย์วงค์  กล่าวเปิดโครงการว่า “จากข้อตกลงความร่วมมือด้านการบริการวิชาการแก่ชุมชน ระหว่างเครือข่ายบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาไทย วันที่ 20 มีนาคม 2555 ซึ่งประกอบด้วย 10 สถาบัน ร่วมกันจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการบริการวิชาการแก่ประชาคมอาเซียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการบริการวิชาการ นอกจากนั้นยังสร้างความร่วมมือด้านการบริการวิชาการร่วมกับหน่วยงานที่มีพันธกิจด้านการบริการวิชาการแก่สังคมภายในประเทศ ไปสู่การบริการวิชาการแบบบูรณาการสู่ประชาคมอาเซียน การประชุมวิชาการโดยการนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการศึกษาและการบริการวิชาการ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์จากประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว”

จากนั้นนายพิษณุ  จันวิทัน  เอกอัครราชทูตไทยประจำนครหลวงเวียงจันทน์  ปาฐกถาโอกาสในการบริการวิชาการใน สปป.ลาว ว่า “อาเซียนประกอบด้วย 3 เสาหลัก  ประกอบด้วย ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม  ด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นเพียงกระบวนการเท่านั้น สินค้าจะมีการลดภาษี ปรับปรุงกฎระเบียบให้สะดวกมากที่สุด ประเทศไทยยังมีสินค้าอยู่ 4 ประเภทที่มีการเก็บภาษี คือ ไม้ตัดดอก มะพร้าว มันฝรั่ง และกาแฟ  ส่วน สปป.ลาว มี 16 ประเภท  การเคลื่อนย้ายแรงงานไม่ได้หมายถึงแรงงานทุกประเภท จะต้องทำข้อตกลงร่วมกันก่อน ปัจจุบันมีเพียงแรงงานฝีมือ 8 ประเภทเท่านั้น คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก สำรวจ บัญชี  และการโรงแรมและการท่องเที่ยว

อยากจะให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า หลังจากวันที่ 1 ม.ค. 58  เป็นต้นไปอย่าคิดว่าฟ้าจะสดใส ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเคลียร์ไปบางส่วนเท่านั้น”

สุดท้ายนายพิษณุฝากว่า “ดีใจที่ 10 มหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญ และมองไปต่างประเทศ โดยมอง สปป.ลาว ก่อน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า มข. จะเป็นแกนนำมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้บริการวิชาการ สู่ สปป.ลาว ต่อไป”

สำนักวิจัยและส่งเสริมฯ ม.แม่โจ้ : ส่งเสริมเกษตรกรชุมชนเลี้ยงไก่ประดู่หางดำด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์

Written by akku2004 on . Posted in Uncategorized

เกษตรฮ๊อตนิวส์ : สถานีโทรทัศน์ช่อง 3
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ส่งเสริมเกษตรกรชุมชนเลี้ยงไก่ประดู่หางดำด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ : ไส้กรอก ไส้อั่ว ไก่ดำนึ่งสมุนไพร ไก่นิลแม่โจ้ ไก่นิลล้านนา เพิ่มมูลค่าไก่พื้นเมืองนำส่งตลาดผู้บริโภคหาซื้อได้ที่ห้างสรรพสินค้าและที่ร้านค้าผลิตภัณฑ์แม่โจ้ หนึ่งในโครงการเพื่อสังคม Social Enterprize โดย รศ.ดร.ศิริพร กีรติการกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และทีมงานมหาวิทยาลัยแม่โจ้